Don’t eat the Marshmallow Yet! หยุดก่อน! อย่าเพิ่งรีบกินมาร์ชมาลโลว์
เชื่อไหมครับ ว่าแนวทางและข้อคิดดีๆ แม้เพียงเล็กน้อย
จะสามารถเปลี่ยนชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นได้ชั่วนิรันดร์?
สำหรับเรา เราเชื่อเสียยิ่งกว่าเชื่อครับ
เพราะมันกำลังเกิดขึ้นในตัวเราทีละน้อย
และคาดการณ์ว่าน่าจะส่งผลถึงทั้งอนาคตของเราเลยทีเดียว
แนวคิดที่กำลังทอประกายแก่เรา และทำให้เราอยากมอบให้เพื่อนๆ นั่นก็คือ ทฤษฎีมาร์ชมาลโลว์ ครับ
คำว่ามาร์ชมาลโลว์ ก็นำมาจาก เจ้าขนมมาร์ชมาลโล
รูปทรงเป็นก้อนๆ หลายขนาด หลายแบบ เนื้อนุ่มนิ่ม
แถมบางทียังสอดใส้ช็อกโกแลต หรือครีมรสผลไม้ นั่นเอง
ที่ชื่อ ทฤษฎีมาร์ชมาลโลว์ ก็เพราะอ้างอิงมาจากการวิจัยที่ใช้เจ้าขนมชนิดนี้เป็นวัตถุดิบครับ
ทีแรกเราก็ไม่เชื่อว่าขนมมาร์ชมาลโลว์แค่ไม่กี่ชิ้น
จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในคนๆ หนึ่งได้
จนอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ ... เราเริ่มรู้สึกถึงภายในร่างกาย
สารเคมีบางอย่างเริ่มหลั่งไหล ... ค่อยๆ พลุ่งพล่าน
จนรู้สึกตื่นเต้น ตื่นใจ เกิดเป็นความอยากที่จะทำตามวิถีในหนังสือ
นั่นคือ การอดใจไม่กินมาร์ชมาลโลว์อย่างทันทีทันใดนั่นเอง
หนังสือเล่มที่พูดถึงนี้ มีชื่อว่า Don’t eat the Marshmallow Yet!
ถ่ายทอดโดย ดร.โจอาคิม เดอ โพซาต้า ครับ
ดร.โพซาต้าเป็นนักพูดโน้มน้าวใจ นักเขียน คอลัมนิสต์ นักบรรยายการพัฒนาตัวเอง
และยังทำงานให้กับโค้ช NBA และทีมโอลิมปิคหลายทีม
ด็อกเตอร์มีข้อสงสัยว่า
โลกนี้เต็มไปด้วยนักกีฬาที่มีพรสวรรค์แต่ไม่เคยบรรลุความสำเร็จ
และเต็มไปด้วยนักกีฬาที่ไม่มีพรสววรค์น้อยกว่า แต่กลับประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
ทำไม 90 เปอร์เซ็นของคนที่อายุ 65 ปี จึงไม่มีเงินพอที่จะพึ่งพาตัวเองได้
แต่กลับต้องทำงานหนักตลอดเวลา ต้องพึ่งพาประกันสังคม
หวังว่าลูกๆ จะได้งานทำที่ดีและมีเงิน พอที่จะช่วยให้ชีวิตบั้นปลายของพวกเขาดีขึ้นได้
ดังนั้น ด็อกเตอร์จึงเสนอว่า
ความแตกต่างที่สำคัญของความสำเร็จและความล้มเหลว
มิได้อยู่ที่การทำงานหนักหรือมีสติปัญญาที่เหนือกว่า
แต่อยู่ที่ความสามารถในการ “ห้ามใจตัวเองให้ชะลอความอยากได้รับความพอใจลงก่อน”
นั่นคือ คนที่“ห้ามใจไม่รีบกิน ‘มาร์ชมาลโลว์’ จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า” นั่นเอง
ที่ด็อกเตอร์กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะเขานำข้อมูลมาจากการวิจัยหนึ่ง ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
การวิจัยนี้ตั้งคำถามว่า
“การห้ามใจตัวเองไม่ให้ทำในสิ่งที่อยากได้ เพื่อให้ตนเองได้รับความพึงพอใจทันทีทันใดในเด็ก
จะมีผลกระทบยังไงต่อความสำเร็จในอนาคตของเด็กคนนั้น”
ลองฟังเรื่องราวของการทดลองสักนิดนะครับ ขอบอกว่ามันเป็นการทดลองที่โด่งดังทีเดียวครับ
ในการทดลอง นักวิจัยได้เลือกเด็กที่อยู่ในวัยก่อนเข้าเรียน 600 คน
จากนั้นนำเด็กเข้าไปในห้องทีละคน
เอาขนมมาร์ชมาลโลว์วางไว้ตรงหน้า 1 ก้อน
แล้วบอกว่า เขาจะออกไปข้างนอก 15 นาที
หากว่าเด็กไม่กินขนมมาร์ชมาลโลว์ที่วางอยู่ตรงหน้าในช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่ล่ะก็
เมื่อกลับมา เขาจะให้ขนมมาร์ชมาลโลว์เพิ่มอีก 1 ก้อน
เราๆ ฟังดูแล้ว ก็คงรู้สึกว่าช่างเป็นเงื่อนไขที่คุ้มมากๆ ลงทุนหนึ่ง ได้ถึงสอง
แต่สำหรับเด็กวัย 4 ขวบ เวลา 15 นาที นับว่ายาวนานมาก
และเมื่อไม่มีใครคอยห้ามอยู่ในห้อง ขนมขนมมาร์ชมาลโลว์ก็กลายเป็นสิ่งที่ยั่วน้ำลายมากเกินกว่าจะห้ามใจ
ท้ายที่สุด ก็มีทั้งเด็กที่อดทนไม่ได้ คว้ามาร์ชมาลโลว์เข้าปากเคี้ยวหงึบๆ
และก็มีอีกส่วนน้อย ที่อดทนได้
เด็กๆ เหล่านี้ เผลอเอามาร์ชมาลโลว์เข้าปากอยู่หลายครั้ง แต่พวกเขาก็ตัดใจไม่กินมัน!
ที่สุด พวกเขาจึงได้ขนมมาร์ชมาลโลว์เพิ่มเป็น 2 ก้อน
...งึม งัม หงึบๆ .... ขนมมาร์ชมาลโลว์ 2 ก้อนนี้ ช่างอร่อยแท้!
10 ปีต่อมา นักวิจัยได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ปกครองเด็กๆ ที่เข้าร่วมการทดลอง
ให้พวกเขาให้คะแนนพฤติกรรมของเด็กๆ ผลที่ได้นั้นน่าทึ่งมาก นักวิจัยพบว่า
“เด็กที่สามารถยับยั้งใจ ไม่กินขนมมาร์ชมาลโลว์ได้นั้น มีผลการเรียนที่ดีกว่า สามารถเข้ากับคนอื่นได้ดีกว่า
และจัดการความเครียดได้ดีกว่าเด็กที่ไม่สามารถห้ามใจตัวเองไม่ให้กินขนมมาร์ชมาลโลว์ก้อนแรก
แล้วกลุ่มเด็กที่สามารถห้ามใจตัวเองไม่กินขนมมาร์ชมาลโลว์ กลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มากกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่สามารถยับยั้งใจได้อย่างมากมาย”
มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจข้องใจว่า
ทำไมการห้ามใจไม่ให้สนองความพึงพอใจของตัวเองในทันใด
จะกลายเป็นปัจจัยที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของตัวเราในอนาคตได้
ลองยกตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวเรากันนะครับ
ในการสอบกลางภาคครั้งที่ผ่านมา... เพื่อนๆ สามารถอ่านหนังสือตามเป้าประสงค์ได้ครบโดยไม่ผิดแผนแม้นิดเดียว?
ไม่เลี้ยวซ้าย ออกขวา เลยลู่ไหล่ทาง เช่น คุยเล่นกับเพื่อนๆ ดูทีวี ดูหนัง อ่านการ์ตูน เล่นเน็ต หรือปลูกผักในเฟซบุ๊ค จนทำให้เวลาในการอ่านทบทวนนั้นน้อยลง
เราขอปรบมือให้เลยครับสำหรับคนที่ทำได้ เพราะคุณมีมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมากมาย
แต่ไม่ใช่เพราะว่า คุณขยันเรียน จนผลการเรียนดีเลิศนะครับ
หากเป็นเพราะว่าคุณ “จดจ่อ และลงมือทำอย่างมุ่งมั่น” อยู่กับเป้าหมายของคุณต่างหาก
และคนที่จดจ่อ มุ่งมั่น และอดทนอย่างนี้เท่านั้นค่ะ จึงจะประสบความสำเร็จ
นี่เป็นตัวอย่างที่แค่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน
แต่หากเพื่อนๆ ลองมองย้อนกลับไปตั้งแต่เพื่อนๆ เป็นเด็ก เข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น แล้วเลยล่วงสู่ปัจจุบัน
มีกี่เรื่องครับที่เพื่อนๆ อดทน เพื่อเป้าหมายจนเป็นผลสำเร็จ และแน่นอน มันต้องสำเร็จตลอดรอดฝั่งเสียด้วย
ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะใหญ่ เช่น การสอบเอนทรานซ์ การเก็บเงินซื้อข้าวของราคาสูง
หรือเป้าหมายนั้นจะเล็ก เช่น ไม่กินขนมก๊อบแก๊บ หรือตื่นนอนให้เช้ากว่าเดิม
เราขอสารภาพตามตรงเลยครับ ตั้งแต่เกิด จนอายุอานามเข้าสู่เลขสาม
การสำเร็จในเป้าหมายใหญ่ล้วนได้มาอย่างทุลักทุเล เพราะขาดวินัย
แม้แต่การตั้งเป้าหมายเล็กๆ ง่ายๆ ใกล้ตัวถึงแม้ว่าในสายงานวิศวกรรมที่เรียนมา จะแนะนำสั่งสอนการวางแผน ก็กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสุดๆ เลย
ไม่ว่าจะเป็น ยืดเส้นสายเล็กน้อยตอนตื่น เก็บเงินวันละสิบบาท หรือ 10-20% ของเงินที่หามาได้ และต่างๆ อีกมากมาย
เราเองก็เป็นคนหนึ่ง ที่กินมาร์ชมาลโลว์ก้อนแรกเป็นประจำ
โชคดีจริงๆ ครับ ที่ได้พบหนังสือเล่มนี้และดีใจที่ได้แบ่งปันกับทุกๆ คน
เราตั้งใจสุดๆ เลยว่า จะไม่กินมาร์ชมาลโลว์ชิ้นแรกอีกต่อไป
ตัดสินใจ! ตั้งใจ! ตั้งใจ!
ถ้าใครเห็นด้วย เราก็มาพยายามด้วยกันนะครับ
เราขอเริ่มกระบวนการทดสอบตัวเองตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เอาให้สัมผัสจับต้องได้ไปเลย!
เราเลือกการออมเงินครับ และรวมถึงหาอะไรทำเพิ่มจากงานประจำ
เราจะตั้งเป้าการออมที่ 30 วัน
เราได้เงินค่าอาหาร(ข้าวสามมื้อ) และค่าเดินทางวันละประมาณ 150 บาท
เราจะออมเงิน เริ่มต้นวันละ 1 บาท จากนั้นจะเพิ่มเป็นสองเท่าทุกๆ วัน (เหมือนที่น้องๆ หนูๆ ได้รับจากทฤษฎีมาร์ชมาลโลว์เดี๊ยะ!)
นั่นแปลว่า วันที่ 1 = ออม 1 บาท
วันที่ 2 = ออม 2 บาท
วันที่ 3 = ออม 4 บาท
วันที่ 4 = ออม 8 บาท
วันที่ 30 = … บาท
มาดูกันครับ ว่าถุงเงินน้อยๆ ของเราใบนี้ จะพ้นจากการเอื้อมมือของเราไปได้นานเท่าไหร่
ถ้าเพื่อนๆ เริ่มสนใจ และอยากลองดู
เพื่อนๆ ก็สามารถตั้งเป้าหมายของตัวเอง จะเล็กๆ หรือจะใหญ่...
จะเริ่มง่ายๆ เหมือนเรา หรือตามแต่สไตล์ความชอบของเพื่อนๆ เราก็มาลองทำกันดูนะครับ
ฝรั่งเขาบอกว่า Don’t eat the Marshmallow Yet!
คล้ายๆ กับที่ชาวไทยเราบอกว่า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
แล้วพบกันในภาค 2 เล่มที่ 2 มาร์ชมาลโลว์
ความรักความผูกพัน